‘ข้าว กข 43’ เส้นทางสู่อนาคต ของเกษตรกรไทย เกิดขึ้นภายใต้โครงการแปลงใหญ่ข้าวประชารัฐ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นการผสานพลังร่วมกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ กรมการข้าว องค์กรชั้นนำเรื่องวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าว พลังเครือข่ายชาวนาไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกข้าว และภาคเอกชน บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด (หรือ ข้าวตราฉัตร) ผู้เชี่ยวชาญช่องทางตลาด นับเป็นจุดเริ่มต้นร่วมกันผลิต ‘ข้าวดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนไปทางต่ำ สายพันธุ์พิเศษ ข้าว กข 43’ แบบครบวงจรครั้งแรก เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มโรงพยาบาล มุ่งหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยให้ดียิ่งขึ้น พร้อมส่งมอบข้าวเพื่อสุขภาพ ทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งภายในงานโครงการแปลงใหญ่ข้าวประชารัฐ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี “ข้าว กข 43 ผสานพลังเพื่อสุขภาพ สู่อนาคต” บริษัทฯ สนับสนุนเครดิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 43 จากกรมการข้าว จำนวน 94 ตัน มอบให้กับเกษตรกรสมาชิกในโครงการฯ กว่า 200 ราย ถือเป็นปฐมฤกษ์ครั้งสำคัญ ตั้งเป้าฤดูกาลผลิตข้าว กข 43 รุ่นนาปี 61 บนพื้นที่ครอบคลุมกว่า 5,000 ไร่ คาดเก็บเกี่ยวได้ผลผลิต จำนวน 2,900 ตันข้าวเปลือก สีเป็นข้าวสาร จำนวน 1,300 ตัน
นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการ งานพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ เปิดเผยว่า ‘ข้าวดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนไปทางต่ำ ข้าว กข 43’ เป็นงานพัฒนาข้าวสายพันธุ์พิเศษ กข 43 ของกรมการข้าว ที่พัฒนาคุณภาพข้าวตรงตามกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะทาง และเพิ่มความหลากหลายให้กับสายพันธุ์ข้าวไทย โดยบริษัทฯ มีส่วนช่วยส่งเสริมกระบวนการผลิตให้กับเกษตรกรสมาชิก อ.เดิมบางนางบวช (ซึ่งชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกข้าว) และเชื่อมโยงเรื่องการทำตลาดให้กับสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ตลาดแข่งขัน เพราะปัจจุบันมีอัตราประชากรเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งสินค้าข้าว กข 43 นี้ คือทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และหันมาพิถีพิถันในการเลือกบริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
นับเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทฯ ที่ได้มีส่วนร่วมส่งเสริม สนับสนุน สร้างประสิทธิภาพการผลิตข้าวเพื่อสุขภาพของเกษตรกรสมาชิกในโครงการฯ (โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว กข 43 จากกรมการข้าว)
โดยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ทำงานร่วมกันกับเกษตรกรสมาชิกทุกๆ ขั้นตอนการผลิต บริษัทฯ ยังเป็นตลาดรองรับวัตถุดิบที่แน่นอน รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิกโดยตรง ผ่านกระบวนการรับซื้อที่โปร่งใส ด้วยเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวที่แม่นยำ ได้มาตรฐานสากล พร้อมกับประกันราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ 12,000 บาทต่อตัน (ข้าวเปลือกที่ความชื้น 14%) ทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ ไม่ต้องรับความเสี่ยงเรื่องราคาเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะมีการตกลงเรื่องราคารับซื้อตั้งแต่ตอนแรกก่อนเริ่มโครงการฯ อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพิ่มความสะดวกในการจัดการและตรวจสอบข้อมูล อาทิ ระบบการลงทะเบียนเกษตรกรสมาชิก และระบบ Testability ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิตข้าว ลงลึกถึงทุกแปลงนาของเกษตรกรสมาชิก เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ตรวจสอบได้ ส่งต่อให้กับผู้บริโภค และมีแผนทำการตลาดอย่างต่อเนื่องให้กับสินค้า สร้างความเป็นสินค้าคุณภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น เพื่อสู่ตลาดแข่งขัน
‘ข้าว กข 43’ เกิดจากข้าวสายพันธุ์สุพรรณบุรี 1 กับ ข้าวเจ้าหอมสุพรรณ เป็นข้าวอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 95 วัน และทนต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล คุณสมบัติพิเศษเป็นข้าวดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนไปทางต่ำ โดยมีค่าการแตกตัวน้ำตาลน้อย และค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ เมื่อรับประทานอาหาร ร่างกายจะเปลี่ยนแป้ง (หรือ คาร์โบไฮเดรต) ในข้าวไปเป็นน้ำตาลได้ช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือด ไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (เปรียบเทียบกับการย่อยและการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคส มีค่าเท่ากับ 100) ซึ่ง ข้าว กข 43 มีค่าดัชนีน้ำตาลในข้าวขัดขาวที่ 57.5 (เปรียบเทียบ ค่าดัชนีน้ำตาลสูง High GI มากกว่า 70, ค่าดัชนีน้ำตาลระดับกลาง Medium GI 56-69, ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ Low GI น้อยกว่า 55) เมื่อหุงสุก มีลักษณะข้าวนุ่ม กลิ่นหอมอ่อน ใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 และ กข 15 เป็นข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไต บริษัทฯ มุ่งหวังโครงการฯ นี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทยให้ดียิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงทางรายได้ให้ชาวนาไทยอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์ปณิธานของบริษัทฯ