ข่าวและกิจกรรม

ข้าวตราฉัตร จัดงาน “วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2”

“ข้าวตราฉัตร” ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และจังหวัดศรีสะเกษ เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทย จัดงานวันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2 หลังประสบความสำเร็จ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มจากปีแรกกว่าเท่าตัว เน้นเกื้อกูลทั้ง 6 ฝ่ายอย่างยั่งยืน

งานวันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2 ครั้งนี้ ถือเป็นงานเฉลิมฉลองความสำเร็จการพัฒนาข้าวหอมมะลิไทยสู่ข้าวคุณภาพดีที่สุด (ข้าวเกรดพรีเมี่ยม) และความสำเร็จของเกษตรกรชาวนาไทย ที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายในงาน ได้รับเกียรติจากท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานจัดงาน พร้อมแสดงปาฐกถา เรื่อง “ข้าวหอมมะลิไทยในภาคอีสาน : โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ ระดับสากล ได้รับเกียรติจากคู่ค้าต่างประเทศ อาทิ บรูไน, สิงค์โปร์, มาเลเซีย, จีน, ฝรั่งเศส เป็นต้น อีกทั้งมีฑูตต่างประเทศ นักวิชาการ และสื่อมวลชน ทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มาร่วมศึกษาดูงานที่นี่ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่จะช่วยตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย และแสดงศักยภาพของเกษตรกรชาวนาไทย ให้คนทั่วโลกได้รับทราบ ผ่านโครงการนี้

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (ธุรกิจข้าว และอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวในงาน “วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก ปีที่ 2” ซึ่งจัดโดย บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร ว่า “ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ข้าวตราฉัตรร่วมสนับสนุนยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และ ตำบลสามัคคี อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปีแรก ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับชาวนาจากที่เคยผลิตข้าวหอมมะลิได้เฉลี่ยไร่ละ 380 กิโลกรัม ที่ ตำบลดู่ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึงไร่ละ 430 กิโลกรัม ในขณะที่ ตำบลสามัคคี เพิ่มได้ถึงไร่ละ 420 กิโลกรัม ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น”

นายสุเมธ เปิดเผยว่า ในปีแรกของการส่งเสริม ซึ่งเป็นฤดูทำนาปี 56/57 มีเกษตรกรจาก 2 พื้นที่เข้าร่วมโครงการรวม 191 ราย พื้นที่ทำนา 3,574 ไร่ แต่ในปีที่ 2 (57/58) จำนวนสมาชิกโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 444 ราย พื้นที่ทำนาเพิ่มเป็น 8,696 ไร่ สูงกว่าเดิมกว่าเท่าตัว ซึ่งได้รับใบรับรองการปลูกข้าวด้วยระบบ GAP โดยคาดว่าจะได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือกประมาณ 3,913 ตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 2,000 ตันข้าวสาร เพิ่มจากที่ผลิตได้ เมื่อปีที่แล้วประมาณ 2,387 ตันข้าวเปลือก ผลิตได้ประมาณ 1,525 ตันข้าวสาร

“ปีที่แล้ว (56/57) ตำบลดู่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 132 ราย พื้นที่ทำนามี 2,455 ไร่ ในปีนี้ (57/58) มีสมาชิกเพิ่มอีก 181 ราย ได้พื้นที่ทำนาเพิ่ม 2,950 ไร่ ทำให้มีสมาชิกรวมเป็น 313 ราย พื้นที่ทั้งหมด 5,405 ไร่ ส่วนที่ ตำบลสามัคคี เดิมมีอยู่ 59 ราย พื้นที่ทำนา 1,119 ไร่ ปีนี้มีสมาชิกเพิ่ม 72 ราย พื้นที่ทำนาเพิ่มอีก 2,172 ไร่ ทำให้มีสมาชิกรวมเป็น 131 ราย พื้นที่ทั้งหมด 3,291 ไร่ แสดงให้เห็นว่า เกษตรกรมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ในหลักการผลิตข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพระดับโลก หลังจากเข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการปลูกข้าวเพื่อความยั่งยืน (ข้าวหอมมะลิ)

โครงการพัฒนาระบบการปลูกข้าวเพื่อความยั่งยืน (ข้าวหอมมะลิ) ตามหลักการผลิตด้วยมาตรฐาน GAP Plus (Good Agriculture Practices Plus) เริ่มจาก คัดเลือกพื้นที่ปลูกข้าว เตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมดินสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม ดูแลรักษา ตลอดจนเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม และอบลดความชื้นที่ถูกหลักวิชาการ เพื่อทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น คุณภาพข้าวเปลือกก็จะดีขึ้น ด้วยระบบการจัดการที่ดี และเหมาะสม จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในโครงการ อีกทั้งบริษัทสามารถตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรได้อย่างชัดเจน เรื่องของราคาและตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน โดยในปีนี้ (57/58) บริษัทฯ จะรับซื้อข้าวจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ทุกไร่ ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ตันละ 400 บาท”

“บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่ส่งเสริมนี้ เป็นแหล่งวัตถุดิบข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยอย่างยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและระดับโลก นายสุเมธกล่าวตอนท้ายว่า “โครงการพัฒนาระบบการปลูกข้าวเพื่อความยั่งยืน (ข้าวหอมมะลิ) บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ก่อให้เกิดประโยชน์ที่เกื้อกูลอย่างยั่งยืนทั้ง 6 ฝ่าย คือ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินงานตามรอยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะมีความมั่นคงในอาชีพของตน ส่วนภาครัฐ เศรษฐกิจของประเทศก็จะปรับตัวดีขึ้น ศักยภาพข้าว เกษตรกรชาวนาไทย จะแข็งแกร่งมากขึ้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สามารถตอบโจทย์ภารกิจองค์กร (เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย ให้ก่อน โดยไม่คิดดอกเบี้ย) ส่วน บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงข้าวตราฉัตร จะมีความมั่นใจในคุณภาพวัตถุดิบที่ได้รับ คุณภาพผลผลิตดีขึ้น อาทิ มีกลิ่นหอม, มีเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดที่สมบูรณ์ ในขณะที่ ประชาชนผู้บริโภค จะมีความมั่นใจคุณภาพข้าวที่ซื้อไปบริโภค เพราะสามารถย้อนทวนตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ทั้งระบบ ตั้งแต่ข้าวสารที่บรรจุในถุง ไปจนแปลงนาที่ปลูกทุกแปลง ทั้งมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซมีเธน อีกด้วย”

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาตลอด คือ การทำธุรกิจคู่สังคม หรือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของข้าวตราฉัตร ที่มากกว่า CSR คือ CSV (Creating Shared Value) โดยการนำความรู้ ความสามารถ มาพัฒนาสมาชิกเกษตรกรในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “มีกิน มีใช้ มีเก็บ” และบริษัทฯ ยังได้วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพดี มาผลิตสินค้า เพื่อส่งต่อสินค้าคุณภาพดีไปยังผู้บริโภค ซึ่งเชื่อมโยงกับการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาชีพ ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กัน